ไม้สำหรับงานก่อสร้าง




คุณสมบัติของไม้แต่ละชนิดที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้าง

ไม้สำหรับงานก่อสร้างถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท โดยถือเอาค่าความแข็งแรงในการตัดของไม้แห้ง และความทนทานตามธรรมชาติของไม้นั้นๆ ดังนี้

1. ไม้เนื้อแข็ง


มีความแข็งแรงสูงประมาณ 1,000 กก./ลบ.ม. มีความทนทานสูง บางขนิดสูงถึง 6 ปี มีหลายชนิด เช่น ไม้เต็ง ไม้รัง และไม้แดง ไม้มะค่าโมง ไม้มะเกลือ ซึ่งมีคุณสมบัติและประโยชน์ที่ควรทราบ ดังต่อไปนี้

ไม้เต็ง
เป็นต้นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลักษณะเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีน้ำตาลแก่แกมแดง เนื้อหยาบ แต่สม่ำเสมอ เสี้ยนสับสน แข็ง เหนียว แข็งแรง และทนทานมาก เมื่อผึ่งให้แห้งแล้ว เลื่อยไสตกแต่งได้ยาก น้ำหนักโดยเฉลี่ยอยู่ที่ ประมาณ 1,040 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ใช้ทำหมอนรางรถไฟ เครื่องมือกสิกรรม และโครงสร้างอาคาร เช่น ตง วาน วงกบ ประตูหน้าต่าง โครงหลังคา และเสา เป็นต้น

ไม้รัง
เป็นต้นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลักษณะเนื้อไม้มีสีน้ำตาล อมเหลือง เสี้ยนสับสน เนื้อหยาบ แต่ไม่สม่ำเสมอ แข็ง หนัก แข็งแรง และทนทานมาก เลื่อยไสตกแต่งค่อนข้างยาก เมื่อผึ่งแห้ง จะมีลักษณะคล้ายไม้เต็ง จึงมักเรียกว่าไม้เต็งรัง น้ำหนักโดยเฉลี่ยประมาณ 800 กก./ลบ.ม. ใช้ทำเสาและโครงสร้างอาคาร ทำหมอนรางรถไฟ และทำเครื่องมือกสิกรรม เป็นต้น

ไม้แดง
เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ ลักษณะของเนื้อไม้มีสีแดงเรื่อๆ หรือสีน้ำตาลอมแดง เสี้ยนแข็งแรงและทนทาน เลื่อยไสตกแต่งได้เรียบร้อย ขัดชักเงาได้ดี น้ำหนักโดยเฉลี่ยประมาณ 960 กก./ลบ.ม. ไม้นี้นิยมในการก่อสร้างในส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้าง เช่น พื้น วงกบ ประตูหน้าต่าง ทำเกวียน ทำเรือ หมอนรางรถไฟ เครื่องเรือน เครื่องมือกสิกรรม และด้ามเครื่องมือ ไม้แดงนี้ปลวกหรือเพรียงจะไม่ค่อยรบกวน และเป็นต้นไม้ที่ต้านทานไฟในตัวด้วย ไม้แดงเป็นไม้ที่มีความแข็งมาก ทำให้เวลาเกิดความชื้นหรือร้อน อาจจะขยายตัวจนกำแพงแตกได้

ไม้ตะเคียนทอง
เป็นต้นไม้ใหญ่และสูงมาก ลักษณะเนื้อไม้มีสีเหลืองหม่น หรือสีน้ำตาลอมเหลือง มักมีเส้นสีขาวหรือสีเทาขาวผ่านเสมอ สีที่ผ่านนี้เป็นท่อน้ำมันยาง เสี้ยนมักสับสน เนื้อละเอียดปานกลาง แข็ง เหนียว ทนทาน ทนปลวกได้ดี นำไปเลื่อยใสกล ตกแต่งและชักเงาได้ดีมาก น้ำหนักโดยเฉลี่ย 750 กก./ลบ.ม. ใช้ในการก่อสร้างอาคารและไม้หมอนรถไฟ

ไม้ตะแบก
เป็นต้นไม้สูงใหญ่ ลักษณะเนื้อไม้สีเทาจนถึงน้ำตาลอมเทา เสี้ยนตรง หรือเกือบตรง เนื้อละเอียดปานกลาง เป็นมัน แข็ง เหนียว แข็งแรง และทนทานดี ถ้าใช้ในร่มไม่ตากแดดตากฝน ใช้ทำเสาบาน ทำเรือ แพ เกวียน เครื่องมีกสิกรรม ไม้ตะแบกชนิดลายใช้ทำเครื่องเรือนได้สวยงามมาก ใช้ทำด้ามมีด กรอบรูป และด้ามปืน เป็นต้น

ไม้มะค่าแต้
เป็นต้นไม้ขนาดกลางถึงขนาดสูงใหญ่ ลักษณะทั่วไปเนื้อไม้มีสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลแก่ มีเส้นเสี้ยนผ่านและมีสีแก่กว่าสีพื้น เสี้ยนสับสน เนื้อค่อนข้างหยาบแต่สม่ำเสมอเป็นมันเลื่อม แข็งและทนทานมาก ทนมอด ทนปลวกได้ดี เลื่อยไสตกแต่งได้ยาก เพราะความแข็งของไม้ น้ำหนักโดยเฉลี่ย 1090 กก./ลบ.ม. ใช้ในการก่อสร้างต่างๆ ทำหมอนรถไฟ ทำเครื่องเกวียน เครื่องไถนา และเครื่องเรือน

ไม้ประดู่
เป็นต้นไม้สูงใหญ่ ลักษณะเนื้อไม้สีแดงอมเหลืองถึงสีแดง อย่างสีอิฐแก่ สีเส้นเสี้ยนแก่กว่าสีพื้น บางทีมีลวดลายสวยงามมาก เสี้ยนสับสนเป็นริ้ว เนื้อละเอียดปานกลาง แข็งและทนทาน ไสตกแต่งและทำเงาได้ดี น้ำหนักโดยเฉลี่ย 800 กก./ลบ.ม. ใช้ในการก่อสร้าง ทำเกวียน เครื่องเรือนที่สวยงาม ทำจากปุ่มประดู่ ทำด้ามเครื่องมือ และสิ่งอื่นๆที่ต้องการความแข็งแรง ทนทาน ไม้ประดู่ส่วนใหญ่คือ ประดู่แดงหรือประดู่เหลือง ความแข็งใกล้เคียงกับไม้แดง แต่ยืดหดน้อยกว่า




ไม้เนื้อแข็งปานกลาง

เป็นไม้ที่มีความแข็งแรง 600 ถึง 1,000 กก./ลบ.ม. มีความทนทานของเนื้อไม้ หลังจากผ่านการผลิตอุตสาหกรรมแล้วเฉลี่ย 6 ปี ไม้ประเภทนี้ได้แก่ ไม้ยูง ไม้มะค่าแต้ ไม้พลวง ไม้นนทรี ไม้ตะแบก ไม้ตาเสือ ไม้ตะเคียนทอง

ไม้สัก
เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ ลักษณะเนื้อไม้สีเหลืองทอง นานเข้าจะกลายเป็นสีน้ำตาล หรือน้ำตาลแก่ มีกลิ่นเหม็นเหมือนหนังฟอกเก่าๆ และมีน้ำมันในตัว มักมีเส้นสีแก่แทรกเสี้ยนตรงเนื้อหยาบ และไม่สม่ำเสมอ แข็งพอประมาณ ทนทานที่สุด ปลวกมอดไม่ทำอันตราย นำไปเลื่อยไสตกแต่งได้ง่าย แกะสลักได้ดี ชักเงาได้ง่าย และดีมาก เป็นไม้ที่ผึ่งให้แห้งได้ง่ายและอยู่ตัวดี น้ำหนักโดยประมาณ 640กก./ลบ.ม. ไม้สักเป็นไม้ที่นิยมมากในการทำเครื่องเรือน ทำบานประตูหน้าต่าง แกะสลักต่างๆ

ไม้กระบาก หรือไม้กะบาก
เป็นไม้สูงใหญ่ ลักษณะเนื้อไม้โดยรวม มีสีตั้งแต่นวลเหลืองถึงน้ำตาล อ่อนแกมแดงเรื่อๆ เสี้ยนตรง เนื้อหยาบ แต่สม่ำเสมอ แข็ง เหนียว เลื่อยไสตกแต่งได้ไม่ยาก ข้อเสียคือ เนื้อเป็นทราย ทำให้กัดคมเครื่องมือ น้ำหนักโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 600กก./ลบ.ม. ใช้ทำแบบหล่อคอนกรีตได้ดี เพราะถูกน้ำแล้วไม่บิดงอหรือโค้ง ทำเครื่องเรือนราคาไม่แพง ทำกล่องใส่ของ เก้าอี้ 

ไม้นนทรีย์ 
เป็นต้นไม้ขนาดกลาง ลักษณะไม้สีชมพูอ่อนถึงน้ำตาลแกมชมพูเป็นมันเลื่อม เสี้ยนตรง หรือเป็นลูกคลื่นหรือสับสนบ้างเล็กน้อย เนื้อหยาบปานกลาง เลื่อยผ่าไสตกแต่งได้ง่าย น้ำหนักโดยเฉลี่ยประมาณ 575 กก. /ลบ.ม. ใช้ทำพื้น เพดาน และฝา ทำเครื่องเรือน และที่ใส่ของต่างๆ

ไม้เนื้ออ่อน 

เป็นไม้ที่มีความแข็งแรงเฉลี่ยต่ำกว่า 600 กก./ลบ.ม.  มีความทนทานต่ำเมื่อเทียบกับไม้ประเภทอื่น คือประมาณ 2 ปี ไม้ประเภทนี้ก็ได้แก่ ไม้ยางแดง ไม้พะยอม ไม้พญาไม้ ไม้กระเจา ไม้กวาด

ไม้ยาง
เป็นต้นไม้สูงชลูด ลักษณะเนื้อไม้มีสีแดงเรื่อ หรือสีน้ำตาลหม่น เสี้ยนมักตรง เนื้อหยาบ แข็งปานกลาง ใช้ในร่ม ทนทานดี เลื่อยไสตกแต่งได้ดี น้ำหนักโดยเฉลี่ยนประมาณ 650-720 กก./ลบ.ม. ใช้ในงานก่อสร้างทั่วไป เช่น ใช้เป็นไม้ฝา ไม้คร่าว ฝ้าเพดาน คร่าวฝา

ไม้กระท้อน
เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ ลักษณะเนื้อไม้มีสีแดงเรื่อๆปนเทา เสี้ยนไม้ตรง เนื้อค่อนข้างหยาบ แข็งแรงปานกลาง ใช้ในร่มทนทานพอควร เลื่อยไสตกแต่งได้ง่าย ขัดและชักเงาได้ ผึ่งให้แห้งได้ง่าย แต่หดตัวมาก ใช้ทำพื้น เพดาน และเครื่องเรือน

ไม้ต้นมะพร้าว
เนื้อมีความหนาแน่น ใช้เป็นโครงสร้างรองได้ ความหนาแน่นตรงริมมีมากกว่าตรงกลางต้น ตอนกลางมีน้ำหนักเฉลี่ย 400 กก./ลบ.ม. แต่ตอนริมมีน้ำหนักเฉลี่ยถึง 600 กก./ลบ.ม.


ไม้ที่นำมาใช้ในวัสดุก่อสร้าง

แบบผ่าไม้
การนำไม้มาใช้งาน เริ่มจากการตัดโค่นต้นไม้ให้เป็นท่อน ที่เรียกว่า ซุง Log และจะมีการนำซุงมาแปรรูปโดยผ่าหรือเลื่อย ซึ่งก็จะทำให้ได้ไม้รูปลักษณ์ต่างกันตามลักษณะของการผ่าน

สิ่งสำคัญในการนำไม้ที่ผ่านการแปรรูปมาใช้ จะต้องมีการตรวจสอบความสมบูรณ์ของชิ้นไม้ ไม่ให้มีตำหนิมากเกินกว่ามาตรฐานกำหนด เพราะจะส่งผลเมื่อนำไปใช้งานได้

ประเภทของไม้และกลสมบัติของไม้

ไม้ที่เรานำมาใช้ในงานก่อสร้างมีอยู่หลายชนิดและหลายประเภท ซึ่งการรับกำลังก็จะแตกต่างกันออกไป ดังนั้นการเลือกใช้ไม้ให้ถูกต้องตามลักษณะของงานก่อสร้าง ยอ่มจะก่อให้เกิดความปลอดภัย และเหมาะสมกับประเภทของงานนั้นๆ ซึ่งไม้แต่ละประเภทจะมีความแตกต่างกันออกไป โดยการจำแนก จะคำนึงถึง กลสมบัติ ของไม้ดังนี้ 


ทิศทางแรงกระทำต่อเสี้ยนไม้


น้ำหนักไม้ (Weight) ไม้ที่เหมาะสำหรับนำมาใช้ในงานวิศวกรรมก่อสร้าง ควรผ่านการผึ่งหรืออบให้เหลือความชื้นประมาณ 12-15% โดยน้ำหนัก เพื่อลดปัญหาการบิดตัว หดตัว และแตกปริในภายหลัง

ความถ่วงจำเพาะ (Specific Gravity) เป็นกลสมบัติที่แตกต่างกันไปตามชนิดของไม้ โดยทั่วไปไม้ที่มีน้ำหนักและความถ่วงจำเพาะสูงมักจะเป็นไม้ที่ให้กำลังสูงกว่าไม้ที่มีความถ่วงจำเพาะต่ำ

หน่วยแรงดัด (Bending Stress) เป็นกลสมบัติที่ใช้กับการออกแบบโครงสร้างประเภทคาน เพื่อให้สามารถกำหนัดหน้าตัดที่เหมาะสมที่นำมารองรับน้ำหนักบรรทุก

โมดูลัสแตกหัก (Modulus of Rupture) เป็นหน่วยแรงดัดของไม้ที่วัด เมื่อถูกแรงดัดประลัยกระทำจนถึงขั้นแตกหัก

โมดูลัสยืดหยุ่น (Modulus of Elasticity) เป็นกลสมบัติในการต้านทานต่อการโก่งตัวของคานในแนวดิ่ง โดยทั่วไปไม้ที่มีความชื้นมากจะโก่งตัวมากกว่าไม้ที่ผึ่งแห้งดีแล้ว เมื่อรับน้ำหนักบรรทุกเท่ากัน

หน่วยแรงอัดขนาดตามแนวเสี้ยน (Compressive Stress Parallel to Grain) เป็นกลสมบัติที่ใช้ในการพิจารณาการออกแบบโครงสร้างที่ต้องรับแรงอัด เช่น เสา โดยการที่รับแรงของเสา จะเปรียบเสมือนมีเสากลวงเล็กๆของเซลส์ไม้หลายๆเซลส์ช่วยกันยันซึ่งกันและกัน ทำให้รับกำลังได้ดี

หน่วยแรงอัดตั้งฉากกับแนวเสี้ยน (Compressive Stress Perpendicular to Grain) เป็นกลสมบัติที่ใช้พิจารณาในการออกแบบโครงสร้างคาน ที่ต้องรับแรงอัดเป็นจุด เพื่อตรวจสอบการยุบตัวของเสี้ยนไม้ให้อยู่ในขอบเขตยืดหยุ่นที่ยอมให้เท่านั้น

หน่วยแรงดึงขนานกับแนวเสี้ยน (Tensile Stress Parallel to Grain) เป็นกลสมบัติที่ให้ค้าสูงสุดของไม้ในการออกแบบโครงสร้างไม้

หน่วยแรงดึงตั้งฉากกับแนวเสี้ยน (Tensile Stress Perpendicular to Grain) เป็นกลสมบัติที่ไม่ค่อยได้ใช้ในงานออกแบบ

หน่วยแรงเฉือนขนานกับแนวเสี้ยน (Shearing Stress Along Grain) เป็นกลสมบัติในการต้านทานการแยกออกจากกันของคานไม้ระหว่างครึ่งบนกับครึ่งล่าง โดยจะมีค่ามาสุดที่จุดกึ่งกลางความลึกปลายคาน