งานผนัง

การศึกษาผนัง ควรเป็นเรื่องที่เจ้าของบ้านให้ความใส่ใจแต่แรกๆเช่นกัน เพราะจะเป็นการกำหนดน้ำหนักโครงสร้างให้กับอาคารอาศัย ซึ่งวัสดุที่ใช้สำหรับก่อผนังมีหลากหลายด้วยกัน ดังนี้


อิฐมอญ Red brick Wall

อิฐมอญ หรืออิฐดินเผา หรืออิฐแดง ทำจากดินเหนียวผสมกับแกลบหรือวัสดุอื่นผสมน้ำ นวดให้เคล้าเป็นเนื้อเดียวกันแล้วใส่เข้าแม่พิมพ์ โดยมีการโรยเถ้าแกลบบนลานดินภายในแม่พิมพ์ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ดินผสมติดกับแม่พิมพ์ ปาดให้เรียบ ตัดทำเป็นแผ่น ผึ่งให้แห้งหรือพอหมาด แล้วเอาเข้าเตาเผาจนสุก ในปัจจุบันโรงงานผลิตอิฐเหล่านี้ เริ่มที่จะพัฒนา นำเครื่องจักรใหม่ๆเข้ามาผลิต ซึ่งส่งผลให้อิฐมอญแต่ละก้อนมีผิวที่เรียบและขนาดแน่นอนขึ้น นอกจากนี้การผลิตใหม่ๆ ยังมีอิฐเนื้อแน่นมากขึ้น มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้รับน้ำหนักบรรทุกได้มากขึ้น และยังใช้เป็นอิฐโชว์โดยไม่ต้องฉาบปูนปิดทับได้อีกด้วย ถ้าอุณหภูมิในการเผาเพิ่มขึ้น อิฐจะมีสีคล้ำ ความพรุนจะลดลง และความแข็งแรงจะเพิ่มขึ้น ขนาดมาตรฐานที่นิยมคือ 5.5x14x3ซม. ปัจจุบันยังมีความนิยมในการใช้อิฐมอญอยู่ หรือผนังส่วนที่มีความแข็งแกร่งกว่าชนิดอื่นๆ ดูดซึมน้ำได้น้อย จึงมักถูกใช้ก่อในพื้นที่บริเวณห้องน้ำ ปัญหาฉาบปูนแล้วร้าวมีน้อย ราคาต่อก้อนถูกกว่าอิฐประเภทอื่น สามารถตอก เจาะ ยึดพุกได้ดีกว่าอิฐมวลเบาและอิฐบล็อก

กรรมวิธีการผลิตอิฐมอญดินเผา คือ
1. คัดเลือกแหล่งดินเหนียวที่มีคุณสมบัติตามต้องการ อาจเป็นดินเหนียวหรือดินดาน Clay & Shale หรือเป็นดินที่มีสารผสมของเคโอลิไนต์ Kaolinite กับทราย เคโอลิไทต์ ซึ่งเป็นวัสดุที่ไม่คืนตัวเมื่อถูกน้ำและจะแข็งเมื่อถูกเผาในอุณหภูมิคงที่ ดังนั้นดินที่ใช้ทำอิฐจึงมีคุณสมบัติไม่คืนตัวและแห้งได้โดยเร็ว และไม่หดตัวหรืองอแตกได้ง่าย ดินจะมีธาตุเหล็กออกไซด์ ปูนขาว แมกนีเซียม และอัลคาไลด์เจือปนอยู่มาก จึงต้องเอาธาตุเหล่านี้ออกให้เหลือปริมาณที่เหมาะสม และทรายก็ควรมีปริมาณที่เหมาะสม เพราะทรายจะเป็นตัวช่วยป้องกันการยืดหดและแตกร้าวในระหว่างการเผาได้ดี แต่ถ้ามีมากเกินไป ทรายก็จะทำให้การเชื่อมแน่นของอิฐเสียไป เหล็กออกไซด์ถือเป็นวัสดุประสานที่จะทำให้อิฐเกิดความหนาแน่นและแข็งแรง และมีสีแดง  ส่วนปูนขาวก็ช่วยทำให้การขึ้นรูปอิฐดีขึ้น แต่ถ้ามีมากเกินไป จะส่งผลเสียคือการหดตัวของก้อนอิฐมาก สำหรับแมกนีเซียมและอัลคาไลด์นั้น ถ้ามีปริมาณที่เหมาะสมก็จะเป็นตัวช่วยในการผสานเชื่อมแน่นของอิฐ

2. หลังจากคัดเลือกดินได้ตามต้องการแล้ว ก็จะทำการขุดและนำดินเข้ามาเก็บในยุ้ง Storage จากนั้นก็เป็นขั้นตอนการเตรียมดิน โดยจะนำดินมาคัดให้สะอาด เช่นเอาเศษหิน เศษรากไม้ และวัสดุอื่นๆออกให้หมด แล้วทำการบดและร่อนให้ได้เม็ดดินตามขนาดที่กำหนด นำเข้าไปบ่อผสมและคลุกเคล้าให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียวกัน ด้วยการนวดด้วยแรงงานหรือด้วยเครื่องจักรก็ได้ ดินที่ผ่านการนวดแล้ว จะนำไปเข้าแบบพิมพ์และตัดให้ได้ตามขนาดที่ต้องการด้วยแรงงานหรือด้วยเครื่องจักร ทำให้ได้จำนวนผลิตภัณฑ์ที่รวดเร็วขึ้น ขั้นตอนการทำให้แห้ง อาจใช้วิธีตากลมหรือตากแดดตามธรรมชาติ ซึ่งก็อาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์ แต่ปัจจุบัน นิยมใช้เตาเผา ทำให้ใช้เวลาน้อยเลงเหลือเพียง 2-3วัน

 


 

อิฐบล็อก 


ซีเมนต์บล็อก หรือ คอนกรีตบล็อก หรือ อิฐบล็อก เป็นวัสดุที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเสริมจุดเด่นให้ดีกว่าอิฐมอญ เช่น แข็งแรงกว่า ก่ออิฐได้เร็วกว่า ทนทานกว่า ผลิตได้ง่าย ราคาถูก ก่อสร้างได้รวดเร็ว ข้อเสียคือไม่ค่อยแข็งแรง ส่วนคอนกรีตบล็อกทำจากส่วนผสมระหว่างปูนซีเมนต์กับหินและทราย สามารถรับแรงอัดได้สูงประมาณ 300 กก./ตร.ซม.จึงเป็นที่นิยมใช้งานปูพื้นและทางเข้า การปูพื้นทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่ทิ้งร่องรอยสกปรก

เนื่องจากวัสดุเป็นคอนกรีต และหน่วยน้ำหนักรวมปูนฉาบแล้วเบากว่า เช่น ผนังอิฐมอญใช้น้ำหนักออกแบบที่ 180 กก./ ตร.ม. สวนผนังอิฐบล็อกจะใช้น้ำหนักออกแบบที่ 100-120 กก./ ตร.ม.

อิฐบล็อกนิยมใช้กับงานก่อผนังอาคารทั่วไปทั้งภายในและภายนอก ที่ต้องการลดน้ำหนักของโครงสร้าง ใช้กับงานภายนอก เช่น รั้วเซาะร่อง กำแพงกันดินเตี้ยๆ นอกจากนี้ยังมีคอนกรีตบล็อกที่ผลิตให้มีช่องแสงหรือช่องลมด้วย

คอนกรีตบล็อกเป็นวัสดุที่ผสมจากซีเมนต์ หินเกล็ด ทรายหยาบ และน้ำ ซึ่งจะมีน้ำหนักมาก ดังนั้นจึงออกแบบให้เป็นคอนกรีตบล็อกเป็นรูกลวงเพื่อลดน้ำหนักลง คอนกรีตบล็อกที่ผลิตและใช้งานทั่วไปในท้องตลาด จะมีขนาด 7 ซม. กว้าง 19 ซม. ยาว 39 ซม.
 

ข้อดีข้อเสีย อิฐมอญ อิฐมวลเบา อิฐขาว

อิฐขาว

ทำจากปูนขาวและทรายผสมกัน อัดด้วยเครื่องจักรที่มีความกดดันสูง 500 ตัน แล้วอบด้วยความร้อนสูง อิฐขาวเป็นอิฐที่ใช้เทคโนโลยีเยอรมันพัฒนาขึ้นมา เพื่อทดแทนอิฐมอญ และอิฐบล็อก เหมาะสำหรับงานก่อสร้างทุกชนิด เป็นอิฐที่แพร่หลายมานานกว่า 100 ปีในยุโรปและอเมริกา อิฐขาวเป็นอิฐที่มีความแข็งแรง คงทนถาวรที่สุด ไม่ต้องฉาบปูน เนื้ออิฐมีความหนาแน่นมาก น้ำจึงไม่สามารถซึมผ่านได้ ไม่อมความชื้น ป้องกันความร้อนได้ดี มีน้ำหนักเบา ประหยัดโครงสร้าง ผนังอิฐขาว สามารถกันไฟ ไม่ให้ลุกลามไปได้กว่า หรือกันไฟได้กว่า 4 ชั่วโมง มีความสวยงามตามธรรมชาติ สามารถก่อได้โดยที่ไม่ต้องทาสีทับ

แหล่งผลิตอิฐขาวก็ได้แก่ จังหวัดสระบุรี ที่ซึ่งมีแหล่งแร่ และใกล้กับโรงงานปูนซีเมนต์หลักๆของประเทศไทย


อิฐมวลเบา 



คอนกรีตมวลเบาเป็นวิวัฒนาการของการพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุอีกขั้นหนึ่ง ก็เพื่อประโยชน์ต่อการรับน้ำหนักของโครงสร้างอาคาร เนื่องจากโครงสร้างอาคารปัจจุบันนี้มีั้งขนาดใหญ่และขนาดสูง ผนังของอาคารก็มีจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อทำให้น้ำหนักของผนังเบาลงได้ ก็จะมีผลต่อการออกแบบโครงสร้างให้ประหยัดได้ 

คอนกรีตบล็อกมวลเบาเป็นการผลิตจากส่วนผสมของปูนซีเมนต์ ปูนขาว ทรายละเอียด ผงอลูมิเนียม น้ำ และสารเพิ่มฟองอากาส โดยหลังจากผสมกันแล้ว ก็จะทำให้เกิดช่องอากาศเล็กๆเป็นรูพรุนที่ไม่ต่อเนื่อง Unconnecting Voids เป็นผลให้ตัวก้อนมีน้ำหนักเบา ได้มาตรฐาน มอก.​1505-2541 ในบางครั้งมีการเรียกอิฐประเภทนี้ ว่า คอนกรีตมวลเบาแบบมีฟองอากาศอบไอน้ำ 

อิฐมวลเบา มีน้ำหนักเบา โดยเมื่อรวมมวลผนังรวมเมื่อฉาบสองด้านแล้วอยู่ที่ประมาณ 90-100 กก./ ตร.ม. เมื่อเทียบกับผนังอิฐมอญ จะเบากว่า 2 เท่า