พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก


พื้นวางบนดิน


พื้นวางบนดิน Slab on Ground น้ำหนักบรรทุกทั้งหมดถูกถ่ายลงดินโดยตรง พื้นประเภทนี้นิยมใช้กับงานที่อยู่ในระดับพื้นดิน เช่น ทางเดินเท้า พื้นอาคาร บ้านพักอาศัย และ โครงสร้างที่รับน้ำหนักมาก เช่น พื้นคลังสินค้า โรงงาน ถนน เป็นต้น

การเทพื้นคอนกรีต มีขั้นตอนการทำงานดังนี้
1. ส่วนที่เป็นที่ต่ำ เช่น คูน้ำ แอ่ง ท้องร่อง ต้องถม และบดอัดให้แน่นและหากพื้นคอนกรีตขวางทางน้ำไหล ต้องทำทางระบายน้ำก่อนการบดอัด

2. สำหรับพื้นอาคารที่มีเสาอาคาร ควรทำแบบหล่อกั้นแยกรอยต่อเสาออกจากแผ่นพื้น เพื่อป้องกันการแตกร้าวของพื้น จากการทรุดตัว

3. คั่นแผ่นพื้น ด้วยวัสดุประเภทโฟม ให้แยกออกจากผนังหรือคานประมาณ 1/2 - 1 นิ้ว

4. ควรปรับระดับพื้นให้ลาดเอียงเล็กน้อยที่บริเวณประตูทางเข้า เพื่อระบายน้ำฝนที่สาดเข้ามา หรือน้ำจากการทำความสะอาด

5. กรณีที่แผ่นพื้นมีขนาดกว้างมาก ควรแยกเทแผ่นพื้นหลายแผ่น โดยให้แต่ละแผ่นมีขนาดรปะมาณ 6 - 7.5ม. เพื่อให้ทรุดตัวอย่างอิสระและควรคุมพื้นที่การแตกร้าว

6. ใช้แผ่นพลาสติกปูรองพื้นก่อนเพื่อป้องกันดินล่างดูดน้ำปูน และป้องกันความชื้นจากพื้นดินซึมผ่านแผ่นพื้นคอนกรีตขึ้นมา

7. จัดวางเหล็กเสริมในรูปตะแกรงให้ได้ขนาด ตำแหน่ง และระยะถูกต้องตามแบบก่อสร้าง การวางระดับเหล็กเสริมด้านบน เพื่อป้องกันคอนกรีตแตกร้าวที่ผิว

8. เคลือบผิวแบบหล่อด้วยน้ำมัน หรือน้ำยาเคลือบแบบหล่อ เพื่อให้สามารถถอดแบบหล่อได้ง่าย

9. เทคอนกรีตโดยเริ่มจากมุมด้านใน ออกมาสู่ด้านนอก แบ่งเทคอนกรีตทีละส่วน สลับกับการปาดแต่งเนื้อคอนกรีตให้เสมอกัน และได้ระดับตามต้องการ

10. ใช้เครื่องสั่นคอนกรีต ช่วยทำให้เนื้อแน่น พร้อมทั้งปาดแต่งผิวหน้าให้เรียบสวยงาม

11. ทำการบ่มคอนกรีตอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน

ตัวอย่างการแสดงวิธีการใส่วัสดุคั่นแยกโครงสร้างออกจากกัน ใส่วัสดุแยกโครงสร้าง
พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กทางเดียว
หากพื้นคอนกรีตไม่อยู่บนพื้นดิน จำเป็นต้องวางอยู่บน คาน ตง หรือ ผนัง ซึ่งทำหน้าที่รับน้ำหนักที่ถ่ายมากจากพื้นคอนกรีต สำหรับพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กทางเดียว One-Way Slab เป็นพื้นที่ถูกรองรับด้วยคาน หรือผนังรับน้ำหนัก เพียง 2 ด้านเท่านั้น พื้นคอนกรีตชนิดนี้ เหมาะสมกับการรับน้ำหนักที่ไม่มากนัก

เหล็กเสริมหลัก Main steel วางพาดระหว่างคานและตั้งฉากกับคานด้านสั้น ทำหน้าที่ต้านทานแรงดึงเนื่องจากโมเมนต์ดัด ในขณะเดียวกันต้องมีเหล็กเสริมกันร้าว ตั้งฉากกับเหล็กเสริมหลักหรือขนานกับคาน ทำหน้าที่ช่วยกระจายแรง ป้องกันการยืดหดตัวเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ

โดยทั่วไปความหนาพื้น ต้องไม่น้อยกว่า 8ซม. และเหล็กเสริม ต้องมีขนาดไม่เล็กกว่า 6 มม. วางห่างกันไม่เกิน 3 เท่าของความหนาพื้น เมื่อไม่คำนึงถึงการโก่งตัวของพื้น ความหนาของพื้นแปรตามน้ำหนักบรรทุก และความกว้างของแผ่นพื้น
พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก
ความหนาต่ำสุดของแผ่นพื้นทางเดียว

พื้นช่วงเดียวธรรมดา พื้นต่อเนื่องข้างเดียว พื้นต่อเนื่องทั้งสองข้าง พื้นยื่น
L/25
L/30
L/35
L/12

พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กสองทาง
พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กสองทาง Two-Way Slab เป็นพื้นที่มีคานรอบทั้งสี่ด้าน พื้นควรมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีด้านยาวใกล้เคียงกัน โดยที่ด้านยาวต้องไม่มากกว่า 2 เท่าของด้านสั้น พื้นชนิดนี้เหมาะกับการรับน้ำหนักปานกลาง ไม่มากนัก มีช่วงคาน Span ห่างกันพอควร หรือาคารที่ถูกออกแบบให้รับแรงทางด้านข้าง เช่น แรงลม แผ่นดินไหว

การเสริมเหล็กในแผ่นพื้นเหล็กสองทาง
เหล็กเสริมในแผ่นพื้นเสริมเหล็กสองทางต้องวางตั้งฉากกัน โดยเหล็กเสริมที่ขนานกับพื้นด้านสั้น ต้องมีปริมาณมากกว่าหรือเท่ากับเหล็กเสริมทางด้านยาวเสมอ การจัดวางเหล็กให้เหล็กเสริมทางสั้นวางอยู่ด้านล่างของเหล็กเสริมทางยาว และความหนาของพื้น (t) ต่ำสุดประมาณค่าได้จากสูตร (เส้นรอบรูปแผ่นพื้น /180) แต่ความหนาต่ำสุดต้องไม่น้อยกว่า 8 ซม.

เหล็กเสริมแผ่นพื้นแบบนี้ มีลักษณะเช่นเดียวกับการเสริมเหล็กเพื่อต้านทานแรงดึงของคานต่อเนื่อง กล่าวคือ แรงดึงเกิดขึ้นสูงที่บริเวณด้านล่าง ช่วยกลางแผ่นพื้น และด้านบนของคานที่รองรับ ดังนั้น จึงต้องเสริมเหล็กต้านทานแรงดึงในปริมาณที่มากในบริเวณดังกล่าว

สำหรับการเสริมเหล็กตามมาตรฐาน ACI CODE แนะนำให้จัดระยะการเสริมเหล็กสองทาง ที่มีความยาว L และ L1 เท่ากับ 4 เมตร
แผ่นพื้นเหล็กสองทาง