งานปรับระดับหน้าดิน




งานขุดและปรับระดับดิน
การปรับหน้าดินและเตรียมความพร้อมหน้างาน เป็นส่วนแรกๆที่จะต้องเตรียมก่อนการสร้างบ้านใหม่ เราจะต้องเตรียมดินสำหรับพื้นที่ก่อสร้างให้เรียบร้อย โดยคำนึงปัจจัยต่างๆดังนี้
1. ถ้ามีบ้านเก่าต้องรื้อ ให้รื้อถอนออกจนถึงชั้นฐานราก คงไว้แต่เสาเข็มซึ่งรื้อถอนได้ยาก
2. ถ้าต้องการย้ายตำแหน่งสาธารณูปโภค เช่น เสาไฟฟ้า มิเตอร์ประปา ท่อประปา ฯลฯ ที่กีดขวางพื้นที่ก่อสร้าง ควรดำเนินการให้เสร็จเรียบร้อยก่อนการสร้างบ้าน
3. ถ้าที่ดินอยู่ระดับต่ำกว่าถนน ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้ำท่วม ควรถมดินยกระดับสูงกว่าระดับท่อระบายน้ำ
4. ถ้าสร้างบ้านทับบ่อ หรือ บึง ควรถมทิ้งไว้แต่เนิ่นๆ เพราะจะเกิดโอกาสทรุดตัวมากกว่าดินที่ถมบนพื้นปกติ

 
การถมดิน มีหลักพิจารณาคือ
1. ประวัติน้ำท่วม พิจารณาจากระดับสูงสุดที่น้ำเคยท่วมถึง
2. เช็คระดับน้ำในท่อระบายน้ำสาธารณะ โดยติดต่อหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ และถมดินให้สูงกว่าระดับดังกล่าว เพื่อไม่ให้น้ำในบ้านระบายออกได้
3. ระดับดินแวดล้อม โดยทั่วไปมักถมสูงกว่าถนนหน้าบ้านประมาณ 50-80ซม. โดยให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงเพื่อนบ้าน
4. ไม่ควรถมดินสูงเกินไป เนื่องจาก
- พื้นที่ลาที่เชื่อมต่อระหว่างที่ดินของบ้านกับถนนสาธารณะ จะมีความลาดชันมาก
- เกิดปัญหาน้ำไหลท่วมเข้าบ้านของเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน
- มีค่าใช้จ่ายสูง
- ดินถมที่ระดับสูงกว่า 80-100 ซม. อาจเกิดแรงดันจนรั้วเสียหายได้ (หากจำเป็นต้องทำควรปรึกษาวิศวกร)
5. กรณีต้องการให้ระดับพื้นบ้านชั้นล่างอยู่สูงมาก อาจใช้วิธียกใต้ถุนสูงแทนการถมดิน ซึ่งจะได้พื้นที่ใช้งานเพิ่มด้วย
6. การถมยกระดับดินที่ไม่สูงมาก อาจสร้างบ้านให้ได้พื้นในระดับที่ต้องการ โดยทำครีบกันดินให้เรียบร้อยก่อน แล้วจึงค่อยถมดินในภายหลัง วิธีนี้ช่วยให้ประหยัดดิน โดยสามารถนำดินที่ได้จากการเจาะเสาเข็มมาถมได้ด้วยเช่นกัน

 
วิธีถมดิน ทำได้ 2 วิธี คือ
1. การถมแบบบดอัด โดยการเทดินและใช้รถ Backhoe รถแบคโฮ บดอัดทีละชั้น ชั้นละ 30-50ซม. จนกระทั่งได้ระดับที่ต้องการ วิธีนี้จะทำให้ดินอัดแน่น ไม่ทรุดตัวง่าย
2. การถมแบบไม่อัด เป็นการถมดินให้ได้ระดับความสูงที่ต้องการ แล้วบดอัดหนาผิวดินเพียงรอบเดียว หากถมดินสูงตั้งแต่ 1ม. ขึ้นไป ไม่ควรใช้วิธีนี้เพราะจะมีโอกาสทรุดตัวมากในอนาคต ทั้งนี้ช่วงเวลาที่ควรถมดินคือ หน้าแล้ง (ธ.ค.-พ.ค.) เพราะทำงานสะดวก ได้ดินที่แน่นตัวและมีคุณภาพสูง หากถมดินในหน้าฝน ดินที่ถมอาจจะไหลออก เกิดความสูญเสียในปริมาณมาก

ดินที่ใช้ถมที่
ไม่ควรใช้ดินผสมเศษอิฐเศษหินซึ่งแม้จะมีราคาถูก แต่อาจทำให้เสาเข็มหนีศูนย์ หรือแตกหักเสียหายได้ ควรเลือกใช้ดินธรรมชาติในการถม ได้แก่
1. ดินลูกรัง มีสีออกน้ำตาลหรือแดง มีลักษณะค่อนข้างแข็งโดยเฉพาะเมื่อเป็นดินแห้ง สามารถบดอัดให้แน่นแข็งได้ดี เหมาะแก่การถมเพื่อทำผิวถนนคอนกรีต ไม่เหมาะสำหรับปลูกต้นไม้
2. ดินเหนียว เป็นดินเนื้อละเอียด มีคุณสมบัติทึบน้ำ อุ้มน้ำได้ดี นิยมใช้ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพราะหาได้ง่าย และราคาไม่สูงนัก สามารถใช้ปลูกต้นไม้บางชนิดได้
3. ดินทราย ประกอบด้วยทรายประมาณร้อยละ 70 ขึ้นไป ไม่อุ้มน้ำ ง่ายต่อการกัดกร่อน เมื่อนำมาถม จำเป็นต้องบดอัดอย่างดี มีการป้องกันดินไหล เพื่อไม่ให้ดินทรุดตัวและไหนไปบริเวณข้างเคียง ดินทรายมีราคาถูก เหมาะสำหรับถมดินในโครงการจัดสรรต่างๆ
4. หน้าดิน คือ ดินที่อยู่บริเวณผิวดินด้านบน ระดับ 0.00-0.50เมตร หรืออาจลึกกว่าเล็กน้อย เนื้อดินสีดำ มีแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับพืชพรรณและต้นไม้สูง แต่มีราคาสูงกว่าดินประเภทอื่น
นอกจากนี้ควรมีการวางแผนขุดดินมาเพื่อเตรียมหลุมฝังถังบำบัดน้ำเสีย การเลือกใช้ ถังบำบัดน้ำเสีย ขึ้นอยู่กับค่าน้ำเสียที่ทางเทศบาลกำหนด แต่ละที่แม้จะไม่เท่ากัน แต่ถังบำบัดน้ำเสียจากโรงงานมักจะสร้างค่าพื้นฐานไว้ครอบคลุมข้อกำหนดอยู่แล้ว ทั้งนี้ สำหรับบ้านเดี่ยว ควรเลือกใช้ถังบำบัดน้ำเสีย ซึ่งในตัวได้มีส่วนประกอบของทั้งถังเกรอะและถังกรองอยู่แล้ว หลักๆจึงขึ้นกับการเลือกเกรดวัสดุที่ต้องการ ซึ่งทำมาจากเม็ดโพลิเมอร์ต่างเกรดกัน และขนาดที่จำเป็นต้องใช้ การคำนวณขนาด จะขึ้นอยู่กับจำนวนผู้อยู่อาศัยภายในบ้าน กรณีเป็นงานโครงการ คอนโดอยู่อาศัย หรืออาคารสำนักงาน ค่าน้ำเสียที่ส่งออกมาสาธารณะจะเข้มงวดกว่าบ้านเดี่ยว ซึ่งควรให้ทีมงานให้คำปรึกษาเรื่องการเลือกขนาดที่เหมาะสม



เจาะเสาเข็ม >> ขุดดิน > > เตรียมเศษไม้เก่ามาทำทาง       สิ่งที่หลายคนไม่ได้คำนึงถึง คือการสั่งถังบำบัดน้ำเสียพร้อม
กับการสั่งเหล็กล๊อตแรก เพื่อวางได้ตรงกับขนาดที่ขุดเจาะดินไว้