การป้องกันและรักษาเนื้อไม้

การผุของไม้ในเขตนี้ มักเกิดจากการกระทำของ Fungi (ฟังไจ) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มุ่งทำลายใยไม้ โดยจะกัดกินเยื่อไม้ (Tissue) เป็นอาหาร ทำให้ไม้ผุพังเนื่องจากเนื้อไม้ไม่มีไม้คอยยึดเหนี่ยว การผุของไม้จะเกิดจากปัจจัยเสริม ประการ คือ

มีอาหารที่ฟังไจชอบ
มีอุณหภูมิที่พอเหมาะต่อฟังไจ
มีปริมาณอากาศเคลื่อนไหวน้อย
มีสภาพความชื้นที่พอเหมาะ

ทั้งสี่ประการนี้ ถ้าขาดซึ่งปัจจัยใด ปัจจัยหนึ่ง การทำลายเนื้อไม้โดยฟังไจก็จะไม่เกิดขึ้น พิสูจน์ได้จากการที่นักโบราณคดีขุดพบท่อนซุงที่ทำเป็นฐานกำแพงเมืองจมอยู่นับร้อยปี ซึ่งก็อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ไม่มีการผุเปื่อย เป็นเพราะซุงจมอยู่ใต้ดินและมีน้ำท่วมขังตลอด ปราศจากอากาศถ่ายเท

การป้องกันรักษาเนื้อไม้
การป้องกันรักษาเนื้อไม้ที่ดีที่สุด คือการทำให้อาหารของฟังไจเป็นพิษ โดยการอาบ หรืออัด หรือทาน้ำยาที่เป็นพิษเข้าไปในเนื้อไม้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธีใหญ่ๆคือ

1. วิธีการอาบน้ำยา

เป็นวิธีการอาบน้ำยาให้กับไม้ทั้งที่เป็นซุงหรือที่ผ่านการแปรรูปมาแล้ว โดยนำไม้ที่ต้องการอาบน้ำยาลงไปแช่ในถังอัดน้ำยา ซึ่งจะทำการอัดน้ำยาด้วยแรงอัดภายในถัง ทำให้น้ำยาสามารถซึมเข้าไปในเนื้อไม้ได้อย่างทั่วถึง การอัดน้ำยายังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี คือ

การอัดน้ำยาแบบเต็มเซลส์ Full Cell Process การอัดน้ำยาด้วยวิธีนี้ จุดประสงค์ก็เพื่อต้องการให้น้ำยาสามารถซึมเข้าไปในเซลล์เนื้อไม้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ กรรมวิธีเริ่มจากการนำไม้เข้าไปในถัง แล้วไล่อากาศและน้ำภายในเซลล์ไม้ออกให้ใหมด ด้วยระบบสุญญากาศ จากนั้น จึงปล่อยน้ำยาเข้าถัง ด้วยแรงดันถึง 7-13 กก./ตร.ซม. ที่อุณหภูมิประมาณ 80-100 องศา เพื่อให้น้ำยาอัดเข้าไปในเนื้อไม้ได้ทั่วทุกเซลล์ นานประมาณ 2-3 ชม. จากนั้นก็ลดแรงดันและปล่อยน้ำยาออกจากถัง ขณะเดียวกันก็ทำสุญญากาศอีกครั้ง เพื่อให้เนื้อไม้แห้ง แต่ในภายหลัง อาจมีน้ำยาไหลเยิ้มออกมาได้

การอัดน้ำยาแบบไม่เต็มเซลล์ Empty Cell Process เป็นการอัดน้ำยาเพียงเพื่อให้น้ำยาซึมเข้าไปในเซลล์ และเกาะติดอยู่ตามผิวของผนังเซลล์เท่านั้น โดยภายในช่องเซลล์ไม้จะว่างเปล่าไม่มีน้ำยา กรรมวิธีเริ่มจากการนำไม้เข้าไปในถังแล้วให้อากาศอัดเข้าไปในถัง อากาศที่อัดเข้าไปจะอยู่ในเซลล์ต่างๆของเนื้อไม้ด้วยแรงอัดประมาณ 2-7 กก./ตร.ซม. จากนั้น จะปล่อยน้ำยาเข้าถังด้วยแรงอัดที่สูงกว่าครั้งแรกประมาณ 7-14 กก./ตร.ซม. ปล่อยให้น้ำยาซึมเข้าไปในเนื้อไม้จนเต็ม ตอนแรกก็จะขยายตัว และขับเอาน้ำยาออกมาจากช่องเซลล์ จากนั้นก็ทำสุญญากาศอีกประมาณ 30-45 นาที ซึ่งก็จะทำให้เหลือเฉพาะน้ำยาเพียงที่ผิวของเซลล์ไม้ ทำให้ไม้แห้ง และไม่มีน้ำยาไหลเยิ้มออกมาภายหลัง วิธีนี้ เป็นที่นิยมปัจจุบัน

2. วิธีการทาหรือพ่น

เป็นวิธีการที่ง่าย และค่าใช้จ่ายต่ำ โดยการเอาแปรงทาสีหรือใช้เครื่องพ่น หรือยกชิ้นไม้จุ่มแช่ลงในถาดน้ำยา ถ้าใช้วิธีทาหรือพ่น ควรทำอย่างน้อย 2 ครั้ง เพราะวิธีนี้ น้ำยาจะซึมเข้าเนื้อไม้ได้ไม่ลึกนัก และน้ำยาที่ใช้ ก็ควรเป็นน้ำยาชนิดที่ดูดซึมได้เร็ว วิธีนี้อาจได้ผลไม่เต็มที่ แต่ก็สามารถยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์ได้ หรือทำให้ฟังไจเข้าไปทำลายเนื้อไม้ไม่ได้ โดยที่การผึ่งไม้ให้แห้งก่อนการทา หรือพ่น จะช่วยให้น้ำยาซึมซับเซลล์ไม้ได้ดีขึ้น และต้องระวังการแตกและฉีกร้าวของไม้ด้วย เพราะการแตกร้าวนี้ ล้วนจะเป็นทางเข้าสู่เนื้อไม้ของฟังไจ

 


 

น้ำยารักษาเนื้อไม้

น้ำยาหรือเคมีที่รักษาเนื้อไม้ มีอยู่หลายชนิด จะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะงานนั้นๆ ดังนี้
1. ครีโอโสต Coal Tar Creosote เป็นน้ำมันที่เป็นผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันดิบและถ่านหิน มีสีดำ หรือสีน้ำตาล มีคุณสมบัติในการรักษาเนื้อไม้ เพราะเป็นสารที่มีพิษต่อเชื้อราและแมลงต่างๆ แทรกซึมเข้าเนื้อไม้ได้ง่าย หาได้ง่าย แต่มีกลิ่นเหม็น ไม่ละลายในน้ำ ทาสีทับไม่ได้ เหมาะสำหรับการทาเสาเข็ม โคนเสาไต้ถุนบ้าน หรือโครงหลังคาบนฝ้าเพดาน

2. ซิงค์คลอไรด์ Zinc Chloride เป็นผงสีขาว หาได้ง่าย ราคาถูก ไม่มีกลิ่น ทาสีทับได้ เนื้อไม้ที่ได้รับสารนี้เข้าไป จะช่วยให้ทนไฟได้ดีขึ้น แต่จะไม่เหมาะกับงานในที่โล่งแจ้ง ต้องเป็นไม้ที่แห้ง มีคุณสมบัติ ป้องกันพวก เห็ด รา และแมลงเจาะไม้ต่างๆ ยกเว้น ปลวก เหมาะสำหรับงานไม้ที่อยู่ในที่ร่มที่ไม่สัมผัสกับพื้นดิน

3. น้ำมันปิโตรเลียม Petroleum เป็นน้ำมันปิโตรเลียมดิบ หรืออาจใช้น้ำมันเครื่องเก่าๆที่ผ่านการใช้งานแล้ว ที่เราเรียกว่า น้ำมันขี้โล้ นำมาผสมกับน้ำมันครีโอโสตในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่งเพื่อทำให้ทาได้ง่ายขึ้น มีคุณสมบัติป้องกันแมลงเจาะไชและป้องกันการผุ ใช้ในการทาไม้หมอนรองรางรถไฟ ทาไม้หรือเสาที่สัมผัสกับพื้นดิน ในสมัยเก่า นิยมนำเอาน้ำมันขี้โล้มาทาแบบหล่อเสาคอนกรีต เพื่อปัองกันไม่ให้คอนกรีตติดกับแบบไม้ แต่ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว เพราะทำให้คอนกรีตสกปรก และทำให้ฉาบปูนไม่ติดกับเนื้อคอนกรีต

4. โซเดียมฟลูออไรด์ Sodium Fluoride เป็นผลึกสีขาว ละลายน้ำได้ดี แต่ไม่ควรใช้ในที่ที่มีหินปูนเพราะจะทำให้ปฏิกิริยาจับตัวเป็นตะกอน ไม่เหมาะกับงานที่อยู่ในที่โล่งแจ้ง มีคุณสมบัติในการรักษาเนื้อไม้เช่นเดียวกับซิงค์คลอไรด์

5. สารหนู Arsenic เป็นสารที่เป็นพิษต่อแมลงและราต่างๆ แต่ในการทาสารหนูบนเนื้อไม้นั้น จะต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะสารนี้จะมีแก๊สที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้คนที่อยู่บริเวณนั้นๆ

นอกจากนี้ยังมีน้ำยา หรือสารเคมีอีกหลายชนิด ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ต้องเลือกให้เหมาะสม สำหรับผลิตภัณฑ์รักษาเนื้อไม้ที่เป็นรู้จักกันในท้องตลาดก็ได้แก่ สารซาโดลินของ TOA สารเชลลไดรท์ของ เชอร์วู๊ด ใช้ป้องกันมอด เชื้อรา และแมลงต่างๆ สารทิมเบอร์ชิลด์ ของ TOA ใช้ป้องกันเชื้อราและกันซึมเข้าเนื้อไม้ ฯลฯ และผลิตภัณฑ์ที่ป้องกันเฉพาะผิวไม้ เช่น สีน้ำมันต่างๆ น้ำมันวานิช ยูริเทน เชลแล็ก และ แล็กเกอร์ เป็นต้น